กรมทรัพยากรธรณี เดินหน้าจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ทะเลดึกดำบรรพ์บ้านโภชน์ จ.เพชรบูรณ์ พร้อมเชิญร่วมลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์
> ในปีงบประมาณ 2568 กรมทรัพยากรธรณีเตรียมดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาเชิงบูรณาการเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ทะเลดึกดำบรรพ์บ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 น. ได้สัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึก ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ศรีเรืองฤทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเชษฐ เอื่อมสำอาง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และคณาจารย์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงนักศึกษาชั้นปีที่ 3 – 4 สาขาวิชาชีววิทยา ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานในพื้นที่
>> อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัย มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ทะเลดึกดำบรรพ์บ้านโภชน์ และยืนยันว่าพร้อมร่วมกับทุกภาคส่วนพัฒนาแผนบูรณาการซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณและผลักดันงานวิจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบและเกิดผลสัมฤทธิ์
>>> ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุรเชษฐ เอื่อมสำอาง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวเสริมว่า ได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจครั้งแรก ซึ่งมีคณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ได้ลงพื้นที่ตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์และระบบนิเวศในพื้นที่ พร้อมทั้งบันทึกสิ่งที่ค้นพบเพื่อมอบให้กับชุมชนในเบื้องต้น โดยทางมหาวิทยาลัยฯพร้อมที่จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณีในการทำงานต่อไป
>>>> ในส่วนของ กรมทรัพยากรธรณี ได้แจ้งว่า ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการลงพื้นที่อีกครั้งที่ตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาพื้นที่ทะเลดึกดำบรรพ์ โดยขอเชิญชวนบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่และมีส่วนร่วมในการดำเนินการครั้งนี้ต่อไป การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษาครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ทะเลดึกดำบรรพ์บ้านโพดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ ต่อไป