รายละเอียดข้อมูลพรรณไม้

กระบก

ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้น สูง 10-30 เมตร ผลัดใบช่วงสั้นๆ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแน่นทึบ ทุกปลายยอดมีหูใบหุ้มเป็นรูปฝักดาบเรียวโค้ง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีแกมหอก กว้าง 2.5-9 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนา ผิวเกลี้ยง โคนใบมน ปลายใบแหลมทู่ ขอบใบเรียบ ดอกสีขาวอมเขียว ขนาดเล็ก กลีบรองดอก 5 กลีบ ยาวเป็น 3 เท่าของกลีบรองดอก ปลายกลีบดอกจะม้วนออก เกสรตัวผู้มี 10 อัน ผล รูปป้อมรี เมล็ดเดี่ยวมีเปลือกแข็ง ภายในมีเนื้อแป้งสีขาว อัดแน่น

ประโยชน์

- ตำรายาไทย เนื้อในเมล็ด มีรสมันร้อน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อแก้ข้อขัด บำรุงไต ฆ่าพยาธิในท้อง ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ผสมกับกระเบาและมะเกลือ ต้มน้ำดื่มสำหรับผู้หญิงที่อยู่ไฟไม่ได้
- ยาพื้นบ้านอีสานใช้ แก่น แก้ผื่นคัน แก้ไอ ผสมแก่นพันจำ และแก่นมะป่วน หรือผสมแก่นมะเดื่อปล้อง แก่นพันจำ แก่นปีบ และแก่นมะพอก ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม แก้ไอ ผสมลำต้นต่อไส้ และแก่นกันแสง แช่น้ำอาบ แก่ผื่นคัน แก่นผสมกับแก่นมะพอกต้มน้ำดื่มแก้ฟกช้ำ ลำต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดพิการ แก้ไอเป็นเลือด ผสมเหง้าขมิ้นอ้อย รากทองแมว เมล็ดงา ครั่ง มดแดง และเกลือ ต้มน้ำดื่ม แก้เคล็ดยอก เปลือกต้น ผสมลำต้นเหมือดโลด ใบหวดหม่อน ลำต้นเม่าหลวง และเปลือกต้นมะรุม ตำพอกแก้ปวด ใบ ตำผสมกับเลือดควายใช้ย้อมแห น้ำมันจากเนื้อในเมล็ด ใช้ปรุงอาหาร
- ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้เปลือกต้น ผสมเหง้าสับปะรด งวงตาล รากไผ่รวก นมควายทั้งต้น และสารส้ม ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคหนองใน

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์

พบตามป่าเต็งรัง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ
ป่าดิบแล้ง ตลอดจนป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 300 เมตร

ชื่อพื้นเมือง

มะมื่น มื่น (ภาคเหนือ) มะลื่น หมักลื่น (สุโขทัย นครราชสีมา) บก หมากบก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กะบก จะบก ตระบก (ภาคกลาง) จำเมาะ หลักกาย

อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ