รายละเอียดข้อมูลพรรณไม้

กะตังใบ

ลักษณะทั่วไป

ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร ลำต้นมีขนปกคลุม ใบประกอบแบบขนนกหนึ่งถึงสามชั้น ก้านใบยาว 10-25 เซนติเมตร หูใบรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่น กว้างได้ถึง 4 เซนติเมตร ยาว 6 เซนติเมตร มักจะเกลี้ยง หรือมีขนประปราย หูใบร่วงง่าย ทำให้เกิดรอยแผลเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง แกนกลางใบยาว 10-35 เซนติเมตร เกลี้ยง หรือมีขนสั้นปกคลุม ใบย่อย เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 3-12 เซนติเมตรยาว 10-24 เซนติเมตร ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบสอบหรือมน ขอบใบจักแบบฟันเลื่อย แผ่นใบหนาคล้ายหนัง ด้านล่างมีต่อมขนาดเล็ก ก้านใบย่อยยาว 2-2.5 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาว 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่โคนปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน ดอกตูมรูปทรงกลม สีแดงเข้มพอบานมีสีขาว เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้ ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมนๆ ปลายแฉกเว้า รังไข่เหนือวงกลีบ มี 6 ช่อง แต่ละช่องมีไข่ 1 เมล็ด ก้านเกสรสั้น ปลายมน ผลกลม แป้น ผิวบาง มีเนื้อนุ่ม ผลอ่อนมีสีเขียวพอแก่จัดมีสีแดงเข้มจนถึงสีม่วงดำ

ประโยชน์

อาหาร,สมุนไพร,ผลสุกรับประทานได้ ตำรายาไทยใช้ ราก ต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้บิด ขับเหงื่อ และเป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำ แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์

พบป่าเต็งรัง ชอบแสงแดดรำไร ใต้ร่มไม้ใหญ่ ขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทราย การกระจายพันธุ์ ไทย และภูมิภาคอินโดจีน

ชื่อพื้นเมือง

คะนางใบ (ตราด) ดังหวาย (นราธิวาส) ตองจ้วม ตองต้อม (เหนือ) บังบายต้น (ตรัง) ช้างเขิง

อ้างอิง

http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=174&view=showone&Itemid=59

อัลบั้มภาพ